คืนชีพ “วัสดุเหลือทิ้ง” เปลี่ยนเศษ Label สู่แฟชั่นรักษ์โลก

คืนชีพ “วัสดุเหลือทิ้ง” เปลี่ยนเศษ Label สู่แฟชั่นรักษ์โลก

แต่เดิมเราคิดว่า “แฟชั่น” กับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องห่างไกล แต่ปัจจุบัน กระแส Fast fashion ที่ทำให้เกิดขยะมหาศาล ทำให้หลายคนหันมาให้ความสำคัญ เกิดการอัพไซคลิ่งโดยใช้ “วัสดุเหลือทิ้ง” เช่น ขวดพลาสติก รวมถึงไอเดียแฟชั่นจาก Label หรือเศษป้ายติดเสื้อ ปัจจุบันเรื่องของ สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะในวงการออกแบบไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงแฟชั่นเครื่องนุ่งห่ม ที่เราคุ้นชิน คือ การนำขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่ง (Upcycling) เป็นเสื้อยืดหรือจีวรพระ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนมองข้ามอย่างเศษที่เหลือจากการทำ Label หรือป้ายติดเสื้อ ก็เป็นวัสดุที่สามารถนำมาถักทอกลับมาเป็นชุดที่สวยงามได้เช่นกัน

สำหรับไอเดียการคืนชีพเศษ Label เกิดจากความชื่นชอบในด้าน แฟชั่น และการทอผ้า จุดประกายให้ “เปรม บัวชุม” วัย 24 ปี ผู้ชนะเลิศ จากคอลเล็กชัน The Origin of Rebirth การประกวดโครงการ “RECO Young Designer Competition” (รีโค่) ปีที่ 9 จัดโดย บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ที่มีความใฝ่ฝันในการทำแบรนด์เสื้อผ้าและการสร้างสตูดิโอสอนทอผ้าจากเศษวัสดุเหลือใช้

ข่าวออกแบบ

ความฝันดังกล่าว ทำให้เปรมเลือกที่จะเรียนทางด้านสิ่งทอ คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปัจจุบันทำงานด้านดีไซเนอร์ออกแบบอาร์ตเวิร์ค เฟอร์นิเจอร์ และผ้าความโดดเด่นของผลงานที่เปรมส่งประกวดและคว้ารางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เรียนมา โดยนำวัสดุที่เหลือจากการทอป้าย Label สินค้า ซึ่งจะโดนตัดทิ้งในช่วงริมผ้าหรือระหว่างป้าย โดยปกติของเหลือเหล่านี้จะถูกนำไปเป็นผ้าขี้ริ้ว หรือ ผ้าเช็ดรถ จึงเกิดไอเดียนำวัสดุเหล่านั้นมาใช้ ด้วยคอนเซปต์คอลเลคชั่น คือ “The Origin of Rebirth” การคืนชีพให้ “วัสดุเหลือทิ้ง” ให้กลับมามีชีวิตชีวาใหม่ ดังนั้น ผลงานดังกล่าวจึงไม่ใช่แค่งานศิลปะธรรมดา แต่สามารถใส่ได้จริง และสามารถทรานฟอร์มเป็นงานศิลปะตามที่ใจคิด ด้วยวัสดุรีไซเคิล 100%

“เปรม” เล่าย้อนกลับไปว่า กว่าจะมาเป็นชิ้นงานที่ได้รับรางวัลทั้ง 3 ชุด ต้องใช้ความพยายามมาก แม้โควิด-19 จะทำให้การตัดสินเลื่อนมาในปี 2022 แต่โครงการเปิดให้ส่งผลงานตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่ตนเองต้องทำ Thesis จบการศึกษา เวลา 2 เดือนกับการวางแผนการทำงาน หาเศษป้ายยี่ห้อที่เหลือทิ้งจากโรงงานนำมารวบรวมและสานด้วยความรู้ที่ตนเองเรียนมา รวมถึงการลงชุมชนจังหวัดสกลนครในการเรียนรู้การทอกี่ และตัดเย็บออกมาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ออกแบบ และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร